โบ๊ทได้เปิดเผยกับผมว่า ตอนที่คัดเลือกคนมาสัมภาษณ์เข้าทำงาน แกเลือกผมเพราะผมกรอกในรีซูเม่ว่า มีความสามารถแต่งเพลง ร้องเพลง เล่นกีต้าร์ และได้รับรางวัลแฟนคลับ Paradox (แฟนคลับอาวุโส และ Hall of Fame) ทั้ง ๆ ที่ผมกรอกไปแบบเกรียน ๆ แต่แกเผยว่า ก็เพราะแบบนั้นแหละถึงได้เลือก ซึ่งเป็นความจริงที่โหดสัส แกเผยว่า อยากตั้งวงดนตรีในบริษัท เพราะก่อนที่ผมจะเข้า ในบริษัทก็มีมือกีต้าร์โซโล่กับมือเบสอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดท้ายก็ยังขาดมือกลองจึงไม่เคยได้รวมวงกันจนพนักงานเหล่านี้รวมถึงผมได้ลาออก
ในปี 2010-2011 ผมได้ทำโปรเจ็ควง Fuxk Fake Force และเขียนเพลงการเมืองขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันโบ๊ทก็มีเขียนเพลงการเมืองขึ้นมาเช่นกัน คาดว่าน่าจะมีแรงบันดาลใจจากผม ในปลายปี 2011 หลังจากโปรเจ็ควง Fuxk Fake Force เป็นอันต้องยุบไป ก็มีข่าวศาลสั่งจำคุก 20 ปี “อากง SMS” ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นมา หลังจากนั้นไม่นานโบ๊ทก็มาบ้านผม และนำเพลง "อากง" ที่เขาเพิ่งแต่งเสร็จในวันนั้นมาร้อง ผมจึงหยิบกีต้าร์ไฟฟ้าที่เพิ่งซื้อมาไม่นานมาเล่น และใส่คอร์ดให้เพลงดังกล่าว เราซ้อมกันไม่กี่รอบ จากนั้นก็อัดเดโมเอาไว้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำเพลงการเมืองร่วมกันระหว่างผมกับโบ๊ท
กุมภาพันธ์ 2012 โบ๊ทไปร่วมงานเสวนาการเมือง และได้รับเชิญขึ้นไปพูดพร้อมเล่นดนตรีในงาน โดยโบ๊ทได้เล่นเพลงการเมืองที่ตนเองแต่งไว้จำนวนหนึ่ง 1 ในเพลงเหล่านั้นคือเพลง “นิติราษฎร์” ซึ่งไปเข้าตา “เวช” คนเสื้อแดงคนหนึ่งที่เข้าร่วมงานเสวนานั้น หลังจากนั้นเวชจึงได้ชักชวนโบ๊ทมาทำวงดนตรี และจะจัดงานสำหรับเปิดตัววงในวันที่ 6 เมษายน หลังจากนั้นโบ๊ทได้ชักชวนผมมาเล่นกีต้าร์ในวง โดยเราได้เลือกเพลงที่ต่างคนแต่งไว้จำนวนหนึ่งเพื่อซ้อมและนำไปแสดงในงาน ส่วนเวชได้ชักชวน “แท็บ” มาเล่นไวโอลินในวง
ต่อมา เวชได้ตั้งชื่อวงว่า “ทับทิมสยาม” ในทีแรกเวชตั้งใจจะใช้ชื่อวงว่า “แดงสยาม” แต่มีหลายคนทักท้วงมาว่า "แรงไป" และจะซ้ำกับกลุ่มแดงสยามของ "สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์" ซึ่งเดิมทีเวชก็ตั้งใจให้หมายความถึงกลุ่มแดงสยามอยู่แล้ว เพราะแกต้องการตั้งวงขึ้นมาเพื่อผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ เพื่อช่วยสุรชัยออกจากการถูกจองจำ (หลังจากนั้นราว 1 ปีครึ่ง สุรชัยก็ถูกปล่อยตัวออกจากคุก)
วงทับทิมสยามได้เปิดตัวในเวทีชุมนุมคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ตากสิน วงเวียนใหญ่ วันที่ 6 เมษายน 2012 เวลาประมาณ 18.00 น. โดยแสดงไปทั้งหมด 5 เพลง ได้แก่ เพลง นิติราษฎร์, อากง, ฟ้าสีแดง, ฝันของเรา, และ ก้านธูป ซึ่งทุกเพลงเป็นเพลงที่แต่งกันเองทั้งหมด ไม่มีเพลงของศิลปินอื่นเลย โดยการแสดงครั้งนี้มีศิลปินวงไฟเย็นร่วมแจมแบ็กอัพกับเราด้วย นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าร่วมในงานชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผมไม่เคยสัมผัสมาก่อน จากวันนั้นเป็นต้นมา วงทับทิมสยามก็ได้รับผลตอบรับจากกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นอย่างดี และได้รับเชิญไปร่วมแสดงดนตรีในงานต่าง ๆ ที่จัดโดยกลุ่มวงเวียนใหญ่, กลุ่มลาดกระบัง, กลุ่มคณะราษฎร 2555, กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล, กลุ่มกวีราษฎร์, กลุ่มเสรีราษฎร์, กลุ่มสองสิงห์ ฯลฯ หลังจากนั้นผมกับโบ๊ทก็ได้แต่งเพลงการเมืองเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาเล่นในนามวงทับทิมสยาม โดยเนื้อหาเพลงส่วนใหญ่จะสอดรับกับแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเวลานั้น
วงทับทิมสยามถือได้ว่าเป็นวงที่ทำให้งานเพลงของผม (รวมไปถึงตัวผมเอง) เป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าที่เคยเป็นมา และทำให้ผมมีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะวงดนตรีวงหนึ่ง เพลงที่ได้รับความนิยมและถูกพูดถึงมากที่สุดของวงคือ เพลง “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ซึ่งแต่งโดยโบ๊ท แต่ผมมองว่าเพลงยังไม่สมบูรณ์ จึงเขียนเนื้อเพลงเพิ่ม 1 ท่อน จากนั้นจึงอัดเดโมและอัพโหลดขึ้น Youtube แล้วเผยแพร่ต่อใน Facebook หลังจากเผยแพร่ไปแล้ว เพลงได้ถูกแชร์ต่อจำนวนมากจนไปถึงเพจอย่าง “โหดสัส” และเพจดัง ๆ อีกจำนวนหนึ่งช่วยกันแชร์ต่ออีก ทำให้ยอดวิวไปแตะที่หลักหมื่นในเวลาไม่กี่วัน หลังจากนั้นนักข่าวจาก “มติชนออนไลน์” ก็ได้ติดต่อมาขอสัมภาษณ์วงทับทิมสยามในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเพลงนี้ และเผยแพร่บทสัมภาษณ์ลงในเว็บเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2012 นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อและผลงานของวงทับทิมสยามได้ลงในสื่อกระแสหลัก
เพลงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า “สมศักดิ์ เจียม” โบ๊ทแต่งขึ้นเพื่อต้องการให้กำลังใจ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีชื่อเสียงจากการบรรยายในงานเสวนาวิชาการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2010 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยคณะนิติราษฎร์ และการแสดงทัศนะของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่อง “สถาบันกษัตริย์” บน Facebook จนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง โดยแต่งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ที่ "ตุลย์ สิทธิสมวงศ์" และประชาชนจำนวนหนึ่งไปชูป้ายต่อต้านสมศักดิ์ หลังจากที่สมศักดิ์ได้รับรู้รับฟังเพลงนี้แล้ว ก็ได้แสดงความเห็นต่อเพลงนี้ในทำนองว่า “เขินมาก ทนฟังไม่ได้เลย” ทำให้ผมและโบ๊ทดีใจเป็นอย่างมาก
เพลงอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยม คือเพลง “กูไม่รักมึง” ซึ่งเป็นการนำผลงานของวง Fuxk Fake Force มาเรียบเรียงใหม่โดยโบ๊ท และเพิ่มเนื้อเพลงโดยนำเวอร์ชั่นที่ด้นสดเมื่อครั้งนำไปแสดงสดครั้งแรกที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2012 มาเกลาอีกทีจนลงตัว, เพลง “พ่อมึงตาย” เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเพลง “ร้องไห้หาพ่อเธอหรือ” ของ "เท่ง เถิดเทิง" ซึ่งผมกับโบ๊ทได้นั่งคุยกันว่า หลังจากเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น จะต้องมีคนนำเพลงดังกล่าวมาเปิดเพื่อล้อเลียนคนบางกลุ่มแน่ ๆ จากนั้นผมก็ฮัมเนื้อท่อนแรกของเพลงพ่อมึงตายขึ้นมา แล้วเราก็นั่งแต่งต่อร่วมกันจนเสร็จ และนำไปแสดงสดที่งานเวทีวงเวียนใหญ่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2012
เพลงของวงที่ได้รับความนิยมมักเป็นเพลงที่มีเนื้อเพลง และเนื้อหาออกแนวเกรียน ๆ กวน ๆ ค่อนข้างหยาบคาย แต่เพลงอื่น ๆ ที่เป็นเพลงส่วนใหญ่ของวงที่แต่งไว้จะออกแนวเล่าเรื่องทั่วไป ไม่ค่อยเกรียน อาจมีสอดแทรกความเกรียนแต่พองาม เพียงแต่เพลงเหล่านั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าเพลงแนวเกรียน ตีหัวเข้าบ้าน เพราะคนฟังรู้สึกว่ามันตรงดี ฟังแล้วรู้สึกได้รับการปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกในใจต่อบางสิ่งบางอย่างในสังคมที่ในชีวิตจริงพวกเขาแทบไม่สามารถที่จะพูดได้ เหมือนเพลงได้พูดแทนความอัดอั้นที่พวกเขาอยากพูด อยากระบาย
การแสดงสดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2012 เป็นครั้งสุดท้ายที่วงได้แสดงสดร่วมกับแท็บ มือไวโอลิน นับจากนั้นเป็นต้นมาวงทับทิมสยามจึงเหลือสมาชิกเพียง 3 คน คือ เวช, โบ๊ท, และผม ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน CD อัลบั้ม “บันทึกการแสดงสดชุดที่ 1” ของ วงทับทิมสยาม ก็ได้วางขาย เป็นอัลบั้มรวมบทเพลงในเวอร์ชั่นแสดงสดที่ได้แสดงมาตลอดทั้งปี โดยขายในราคาแผ่นละ 50 บาท ผลิตมาทั้งหมด 100 แผ่น ขายหมดภายใน 1 เดือน
ต่อมาช่วงกลางปี 2013 ผมได้ตัดสินใจที่จะบันทึกเสียงทำสตูดิโออัลบั้มให้กับวงทับทิมสยาม โดยติดต่อกับทาง “ขุนทอง” หัวหน้าวงไฟเย็น และทำการบันทึกเสียงที่ห้องอัด “ไฟเย็นสตูดิโอ” ย่านลาดพร้าว ในขณะที่เพลงยังไม่เสร็จดี วงไฟเย็นก็เกิดปัญหาระหว่างสมาชิกวงจนนำไปสู่การแยกวงของ “โยนก” นักร้องนำและมือกีต้าร์ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องมือบันทึกเสียง โปรเจ็คอัลบั้มวงทับทิมสยามจึงถูกระงับไว้อย่างไม่มีกำหนด ต่อมาไม่นาน ผมกับเวชก็เริ่มมีแนวทางที่แตกต่างกันในเรื่องเพลง รวมไปถึงทิศทางของวง ซึ่งเวชไม่ต้องการให้วงนำเสนอเพลงเนื้อหาที่มีความเสี่ยงอีก ถ้ายังทำต่อตนจะไม่ขอเข้าร่วม แต่เรายืนยันจะทำแบบเดิมอย่างที่เคยทำต่อไป เวชจึงไปตั้ง “กลุ่มทับทิมสยาม” เพื่อแยกตัวออกจากวงทับทิมสยาม โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองปีกเสื้อแดงปีกหนึ่งที่เรียกกันว่า "แดงรักพระบรมฯ" วงทับทิมสยามจึงเหลือสมาชิก 2 คนคือผมกับโบ๊ท ในเวลาต่อมาวงไฟเย็นได้ชักชวนผมเข้าร่วมวงในตำแหน่งมือกีต้าร์ ผมตอบรับคำชักชวนนั้น แม้ผมจะเข้าร่วมวงไฟเย็น แต่วงทับทิมสยามก็ยังมีการรวมตัวกันแสดงดนตรี และมีผลงานใหม่ ๆ ของวงอยู่บ้างเป็นระยะ ๆ จนถึงราวปี 2015
ในช่วงปี 2018 เวชได้พยายามรื้อฟื้นและรีแบรนด์วงทับทิมสยามกลับมาใหม่ เป็นวงขับร้องเพลงแนวย้อนยุคอย่างที่เวชชื่นชอบ และทางวงยังมีการแสดงจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์ผ่านบทเพลงใหม่ "ทับทิมสยาม" ซึ่งมีชื่อเดียวกับชื่อวง นับว่าวงทับทิมสยามในยุคปัจจุบัน ไม่เหลือเค้าเดิมของวงทับทิมสยามในสมัยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคก่อตั้งอีกต่อไป