วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

My Life #8 : วงไฟเย็น (หลังลี้ภัย)

                    หลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2014 มิตรสหายท่านหนึ่งบอกว่านี่คือการเตรียมการที่จะก่อรัฐประหาร ซึ่งในอีก 2 วันก็เกิดรัฐประหารจริง ๆ ผมออกไปชุมนุมต่อต้านกฎอัยการศึกในวันที่ 20 และต่อต้านรัฐประหารในวันที่ 23 ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร มีการแสดงออกต่อต้านรัฐประหารแทบทุกวัน ทั้งที่บริเวณหน้าหอศิลป์, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, Terminal 21, และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึงในบางจังหวัด ซึ่งผมได้เข้าร่วมหลายครั้ง แต่สุดท้ายทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เข้าควบคุมสถานการณ์ และสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนได้อย่างอยู่หมัด การต่อต้านจึงค่อย ๆ เบาบางลงไปในที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีแอคติวิสต์ และประชาชนทั่วไปหลายคนหาทางจัดกิจกรรม รวมทั้งเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาลคสช.อยู่ตลอด

                    หลังการรัฐประหารไม่กี่วัน ทางคสช.ได้ประกาศหมายเรียกรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ให้เข้าพบเพื่อทำการพูดคุย “ปรับทัศนคติ” ซึ่งก็มีหลายคนตัดสินใจเลือกที่จะไปรายงานตัวตามหมายเรียก ในขณะที่อีกหลายคนตัดสินใจเลือกที่จะลี้ภัยทางการเมือง สำหรับผมแล้ว ผมไม่ได้มีรายชื่อในหมายเรียก ผมจึงสามารถอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้เรื่อย ๆ ต่อมาไม่นาน มิตรสหายท่านหนึ่งได้ติดต่อมาขอให้ผมช่วยเขียนเพลงตอบโต้คสช. ผมจึงเขียนเพลง “รัฐประหารหัวควย” โดยนำทำนองเพลงพ่อมึงตาย ของวงทับทิมสยามมาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ และเพลง “คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน” โดยนำทำนองเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย ของประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่ โดยโต้กลับแบบท่อนต่อท่อน (ผมไม่เชื่อว่าเขาเป็นคนแต่งเองจริง ๆ คนที่แต่งเพลงนี้ตัวจริงคือ “วิเชียร ตันติพิมลพันธ์” อย่างมากประยุทธ์ก็แค่บอกคอนเซ็ปท์ ผมไม่เชื่อว่าคนอย่างเขาจะเขียนเพลงเป็น) โดยเนื้อเพลงเวอร์ชั่นที่ทำในนามวงไฟเย็นจะมีบางวรรคที่ต่างจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่ผมแต่งไว้ ทั้งนี้เพื่อลดความเกรี้ยวกราดของเพลงลง

                    หลังจากนั้นพอผมได้ทราบข่าวว่าสมาชิกวงทุกคนยกเว้นผม ได้เดินทางลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีที่พักเป็นหลักแหล่งแล้ว และมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมที่จะทำเพลง ผลิตเพลง ผมจึงตัดสินใจต่อรองการทำงานกับบริษัทที่ทำงานอยู่ว่าจะขอทำงานนอกสถานที่ ไม่เข้าออฟฟิศ (ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คือ work from home) แต่ทางบริษัทไม่โอเค ผมจึงขอลาออกจากบริษัทเพื่อไปร่วมทีมกับวงไฟเย็นทำเพลงเคลื่อนไหวต่อ

                    ผมทำพาสปอร์ต และเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเดือนกันยายน 2014 พร้อมกีต้าร์ไฟฟ้า เพลงแรกที่บันทึกเสียงในต่างแดนคือ เพลง “บทเพลงของสามัญชน” ซึ่งเป็นผลงานของวง “สามัญชน” แต่งโดย "ชูเวช" กับ "แก้วใส" แห่งวงสามัญชน เพลงนี้พวกเขาแต่งเพื่อให้กำลังใจมิตรสหายที่ถูกจองจำ โดยช่วงนั้นมีการนำไป cover กันหลายเวอร์ชั่นโดยหลายศิลปิน ซึ่งวงไฟเย็นก็เข้าร่วมในกระแสนี้ด้วย โดยเราทำเวอร์ชั่น pop punk ออกมาก่อน ตามด้วยเวอร์ชั่น acoustic ซึ่งผู้เรียบเรียงดนตรีหลักของเวอร์ชั่น pop punk คือผมเอง ส่วนการไต่คีย์ขึ้นไปในช่วงท้ายของเพลงเป็นไอเดียการเรียบเรียงของจอม นักร้องนำของวง ในส่วนของมิวสิควิดิโอ ถ่ายทำและตัดต่อโดยผมเอง เป็นการทดลองทำมิวสิควิดิโอครั้งแรกในชีวิตของผม ซึ่งหลังจากปล่อยออกไปทาง Youtube แล้ว ก็ได้รับเสียงตอบรับในระดับที่ดีมาก

                    เพลงต่อมาคือ เพลง “แด่เธอผู้เป็นดวงใจและไฟฝัน” เพลงนี้แต่งไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารไม่กี่เดือน โดยเพลงนี้เริ่มจากการที่จอมโพสสเตตัสบน Facebook ว่าอยากนำคอมเม้นท์ของ “จิ้น กรรมาชน” ที่ให้กำลังใจขุนทองว่า “นักต่อสู้ฝ่ายซ้ายกับอารมณ์อ่อนไหว แม้เพียงเสี้ยวเวลาอันแสนงาม ก็พอที่หล่อเลี้ยงอุดมคติให้แช่มชื่น มีพลังเพื่ออนาคตและเพื่อเธอ” กับบทกวี “แด่เธอผู้เป็นดวงใจและไฟฝัน” ของ “อานนท์ นำภา” มารวมกันและแต่งเป็นเพลง ผมจึงนำไอเดียที่ว่ามาแต่งเป็นเพลงโดยใส่ทำนองและเนื้อเพลงท่อนต่าง ๆ จนเสร็จในเวลาไม่นาน และส่งเดโมให้จอมฟัง หลังจากนั้นจอมได้เขียนเนื้อเพลงเพิ่ม และมานั่งเกลากันจนออกมาเป็นเพลงอย่างที่ได้ฟังกัน

                    จากนั้นผมได้กลับไทยชั่วคราว (ผมยังสามารถไป ๆ มา ๆ ได้ตามปกติ เพราะไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ และสามารถรักษาสถานะตรงนี้ของตัวเองได้อยู่) ระหว่างนั้นขุนทอง มือคีย์บอร์ด นักเรียบเรียงเพลง และซาวด์เอ็นจิเนียร์ของวง เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แทบทุกอย่างในขั้นตอนการผลิตเพลงของวง รวมถึงเป็นหัวหน้าวงไฟเย็น (ตำแหน่งที่ทุกคนในวงมอบให้) ได้นำเพลง “คนเสื้อดำ” ที่บันทึกเสียงไว้เกือบสมบูรณ์ตั้งแต่ก่อนลี้ภัยมาทำให้สมบูรณ์ เพลงนี้ร้องนำโดย “อุ๊” มือเพอร์คัสชั่นของวง รวมถึงเป็นผู้แต่งทำนองและเนื้อร้องหลัก ๆ ทั้งหมดของเพลงนี้ เนื้อร้องเพิ่มเติมบางส่วนโดยสมาชิกวงที่เหลือยกเว้นผม เรียบเรียงดนตรีโดยขุนทอง เรียกได้ว่าเพลงนี้ผมแทบไม่มีส่วนร่วมเลยนอกจากการทำมิวสิควิดิโอ เนื้อหาของเพลงเข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นที่มีข่าวลือออกมาว่าจะได้ใส่เสื้อดำกันทั้งแผ่นดินในเวลาอีกไม่นาน แต่ในความเป็นจริงกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต้องรอไปอีกหลายปี

                    ปลายปี 2014 ผมเดินทางกลับมาร่วมทำงานกับวงอีกครั้ง โดยทางมิตรสหายที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับวงได้เสนอให้ทำสถานีวิทยุออนไลน์ เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ทางความคิด โดยตั้งชื่อว่า “Thailef Radio” และในภาษาไทยว่า “ไทยเสรี เรดิโอ” ถ่ายทอดผ่านทางแอพพลิเคชั่น Tune In ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีรายการสำคัญ ๆ คือ เถียงแทนเจ้า โดยดีเจซุนโฮ, ไฟเย็นพบประชาชน โดยวงไฟเย็น, Royal Gossip โดยดีเจตีโต้และดีเจปุก, บทเพลงเพื่อสามัญชน Music for Life โดยดีเจพอร์ทและดีเจข้าวเหนียวมะม่วง, และต้นมะขามสนามหลวง โดยป.ปลาตาเดียว หรือลุงสนามหลวง

                    เดือนธันวาคม 2014 ก่อนวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย วงไฟเย็นได้ปล่อยเพลง “พ่อ” ซึ่งแต่งและร้องนำโดยผมเอง เดิมทีเพลงนี้เป็นเพลงที่จะอยู่ในอัลบั้มของวงทับทิมสยาม แต่เนื่องจากโปรเจ็คดังกล่าวได้ถูกพักไว้ และเพลงนี้ก็แต่งโดยผมทั้งหมด ผมจึงใช้สิทธิ์ในการนำมาใช้ในวงไฟเย็นแทน ผมตั้งใจให้เพลงนี้เสร็จและถูกปล่อยก่อนวันสำคัญเพื่อที่เพลงนี้จะได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ ทีแรกเพลงนี้ผมจะให้ขุนทองบรรเลงเปียโนหรือคีย์บอร์ดในท่อนโซโล่ แต่ขุนทองเสนอให้ใช้กีต้าร์ดีกว่า ซึ่งผมไม่มั่นใจในฝีมือของตัวเอง และผลที่ออกมาก็ยังไม่ถึงกับเป็นที่น่าพอใจ แต่ท้ายสุดแล้วทางขุนทองก็ตัดสินใจเลือกใช้ไลน์กีต้าร์ในท่อนโซโล่อย่างที่ได้ฟังกัน ในส่วนของคอรัสเสียงเด็กนั้น ผมตั้งใจที่จะใช้เสียงเด็กเพื่อต่อสู้กับเพลงที่ถูกสร้างมากล่อมประสาทเด็กให้ซาบซึ้งกับบางสิ่งมาตลอดเวลาหลายสิบปี รวมถึงการเรียบเรียงดนตรีให้ออกมาในแนว pop ด้วย มิวสิควิดิโอเพลงนี้ถ่ายทำ กำกับ และตัดต่อโดยมิตรสหายท่านหนึ่ง โดยถ่ายทำในประเทศไทยช่วงต้นเดือนมกราคม 2015 เพลงนี้นับเป็นเพลงที่สร้างชื่อให้กับผมอย่างแท้จริง และเป็นเพลงประจำตัวที่มักถูกคนฟังขอให้ร้องอยู่เสมอเมื่อแสดงสดในงานต่าง ๆ ตั้งแต่อยู่วงทับทิมสยามจนถึงวงไฟเย็น

                    ปี 2015 จอมได้นำเพลงที่แต่งโดยศิลปินอื่นมาทำใหม่ในนามวงไฟเย็นจำนวนมาก ผมจึงเสนอให้ทำเป็นอัลบั้มพิเศษไปเลย โดยใช้ชื่อว่า “บทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง” ตลอดทั้งปีจึงเน้นทำอัลบั้มนี้ให้สมบูรณ์แล้วปล่อยขายในปี 2016 ทั้งในรูปแบบ CD และแบบดาวน์โหลดบน BandCamp และ iTunes

                    ปลายปี 2015 ผมได้เริ่มเขียนเพลง “ปีศาจในคราบนักบุญ” ซึ่งมีเนื้อหาพูดถึงชีวิตของนักปกครองคนหนึ่งตั้งแต่ครองตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน ต่อมาต้นปี 2016 ได้เขียนเพลง “ทวงคืน” ซึ่งเป็นเพลง rock หนัก ๆ เนื้อหาออกแนวปลุกใจให้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและอำนาจของเราคืนจากเงื้อมมือปีศาจ หลังจากนั้นผมจึงผุดไอเดียขึ้นมาว่าจะทำมินิอัลบั้ม “Rock Against the Monarchy” โดยตั้งชื่อเลียนแบบ “Rage Against the Machine” ซึ่งมินิอัลบั้มนี้จะมีเพลงประมาณ 5-7 เพลง เป็นเพลง rock ทั้งหมด จากนั้นผมจึงหาไอเดียเพื่อเขียนเพลงในคอนเซ็ปต์มินิอัลบั้มนี้ พอได้เพลงมาจำนวนหนึ่งผมจึงเริ่มบันทึกเสียงงานมินิอัลบั้มนี้ในส่วนของผม ซึ่งประกอบด้วย ร้องนำ, ร้องประสาน, กีต้าร์, และเบส จนเกือบสมบูรณ์

                    ต้นปี 2016 เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร ผมได้เขียนเพลง “พิษรัฐประหาร” เพื่อนำเสนอว่ารัฐบาลคสช.ของประยุทธ์ จันทร์โอชา ปกครองประเทศมา 2 ปีแล้ว ประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง โดยมอบเพลงนี้ให้ “ตีโต้” แห่งรายการ Royal Gossip และเจ้าของผลงานเพลง “สถาปนาอำนาจประชาชน” เป็นผู้ถ่ายทอด เนื่องจากตั้งใจแต่งให้ออกมามีโครงสร้างเมโลดี้แบบลูกทุ่ง ซึ่งเป็นทางที่ตีโต้ถนัด และออกแบบดนตรีให้ออกแนว pop

                    ในช่วงปี 2015-2016 Thailef Radio ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ThaiRev Radio โดยเลิกถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Tune In เปลี่ยนเป็นถ่ายทอดผ่านระบบ streaming บน Youtube ที่ช่อง Faiyen Channel โดยรายการได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เนื่องจากผู้จัดรายการบางคนได้ออกจากกลุ่ม รวมถึงบางคนได้ถูกคุกคามจนเสียชีวิต ในภายหลัง “ลุงสนามหลวง” ได้ขึ้นมามีบทบาทนำในกลุ่ม และสามารถดึงฐานคนฟังได้จำนวนมาก ทำให้สถานีวิทยุออนไลน์แห่งนี้ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อคนในสังคม และมีกลุ่มคนฟังที่เหนียวแน่น โดยทางสถานีได้ประกาศจุดยืนและเป้าหมายที่ชัดเจนคือ “ต้องการยกเลิกระบอบกษัตริย์” และ “เอาระบบสหพันธรัฐ”

                    หลังจากผมผลิต CD อัลบั้ม “บทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง” เสร็จ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2016 ผมได้นำไปขายที่งานที่จัดโดย “กลุ่มเสียงของคนหนุ่มสาว” เพื่อรณรงค์ Vote No ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน โดยผมได้ขอคิวจากทางผู้จัดเพื่อร้องเพลงและประชาสัมพันธ์ขาย CD หลังจากผมได้เดินทางกลับจากงาน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาคุมตัวขอให้ไปให้ปากคำในสถานีตำรวจชนะสงคราม โดยระบุว่าเพลงที่ผมร้องในงานมีเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเพลงดังกล่าวคือเพลง “พ่อ” จากนั้นได้ค้นกระเป๋าผมเพื่อตรวจสอบ CD ที่ขาย แล้วแจ้งข้อหาว่า CD ที่ผมขายไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ราคาขาย, ผู้ผลิต, ผู้จำหน่าย ฯลฯ ซึ่งผมให้เหตุผลว่า CD ศิลปินอินดี้วงอื่น ๆ ทั่วไปก็ทำแบบนี้ แต่ท้ายสุดก็ต้องจำนนด้วยข้อกฎหมายพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และเสียค่าประกันตัว 7500 บาท จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำผมในเรื่องเพลง “พ่อ” แต่ไม่ได้แจ้งข้อหาใดเพิ่มเติม เพราะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งเป็นทหารพิจารณาก่อนจะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

                    หลังจากที่ผมออกจากสถานีตำรวจมาได้ ผมตัดสินใจที่จะเดินทางออกจากประเทศในทันที เพราะผมมั่นใจว่าถ้าผมยังอยู่ไทยต่อไป ผมจะต้องโดนแจ้งข้อหา 112 อย่างแน่นอน แม้เพลง “พ่อ” ของผมจะไม่เข้าข่ายความผิดตามข้อหาดังกล่าวเลยก็ตาม แต่ผมตระหนักดีว่า การพิจารณาคดีของเจ้าหน้าที่รัฐไทยนั้นไม่มีความยุติธรรมสำหรับผู้ที่เป็นอันตรายต่อระบอบการเมืองการปกครองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์ในสายตาของพวกเขา หลังจากนั้นผมจึงอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถเดินทางไป ๆ มา ๆ แบบเดิมได้อีก

                    วันที่ 1 สิงหาคม 2016 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่บ้านผม เพื่อตามหาผมถึง 2 รอบ แต่ทางบ้านไม่อนุญาตให้ขึ้นไปชั้นบน หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งเข้าตรวจค้นบ้านผม แต่ไม่เจอผม และได้เกลี้ยกล่อมคนในครอบครัวเพื่อให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่คนในบ้านไม่ได้ให้ความร่วมมือใด ๆ มากไปกว่าการให้เข้าค้นบ้านเท่านั้น เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตกใจต่อคนในครอบครัวของผมเป็นอย่างมาก เมื่อเจ้าหน้าที่แน่ใจว่าผมไม่ได้อยู่ที่บ้านแล้วจึงจากไป และไม่ได้มาค้นบ้านผมอีก แต่ผมคาดว่าพวกเขาน่าจะส่งคนมาติดตามความเคลื่อนไหวที่บ้านผมอยู่เป็นระยะ ๆ

                    มีเรื่องตลกร้ายเรื่องหนึ่ง ในสมัยเด็กผมเคยฝันอยากเป็นตำรวจบ้าง ทหารบ้าง เพราะคิดว่าเท่ อยู่ฝ่ายธรรมะ คอยปราบเหล่าร้ายเพื่อประเทศชาติ แต่พอโตมาได้เห็นความจริงว่าอาชีพเหล่านี้มันเป็นอย่างไร ก็ได้แต่นั่งขำอยู่ในใจ

                    ต้นเดือนสิงหาคม 2016 ผมได้เขียนเพลง “ดีดีดี” เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดแก่ “สมอลล์ บัญฑิต อาร์ณีญาญ์” (บัณฑิต อานียา) นักเขียน นักแปลหนังสือที่มีชื่อเสียง โดยมีข้อเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของแกเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงนี้ ซึ่งแกมักไปคอมเม้นท์ในโพสมิตรสหายท่านอื่น ๆ ว่า “ดีดีดี” ทุกครั้ง ในส่วนของการโพสสเตตัสของแกก็จะโพสในเชิงสัญลักษณ์ด้วยถ้อยคำอันเป็นเอกลักษณ์ของแกอยู่เสมอ และโพสในลักษณะย้ำคิดย้ำทำ เพลงนี้ผมแต่งทั้งเนื้อร้องและทำนองเอง โดยเรียบเรียงดนตรีร่วมกับขุนทอง นำเสนอในรูปแบบดนตรี rock มันส์ ๆ

                    เดือนพฤศจิกายน 2016 หลังจากกษัตริย์ภูมิพลสวรรคต ได้มีแรงกดดันทั้งจากฝั่งทางการไทยภายใต้เครือข่ายเผด็จการทหารที่นิยมกษัตริย์ นำโดยคสช. และจากฝั่งเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร ให้ทำการปิดสถานีวิทยุออนไลน์ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทางสถานีจึงจำเป็นต้องปิดสถานีชั่วคราว และย้ายฐานที่มั่นไปยังเมืองอื่น โดยผมกับจอมได้ถูกขับออกจากทีมจัดรายการ ส่วนทางขุนทองเลือกที่จะทำงานร่วมกับทีมจัดรายการต่อไป ต่อมาต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ทีมจัดรายการนำโดยลุงสนามหลวง ก็ได้กลับมาจัดรายการอีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่ Thai Federation หรือองค์การสหพันธรัฐไท